การส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ
บริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ มีหลายรูปแบบ เช่น
บริการแนะนำการประกอบอาชีพ การฝึกอาชีพในสาขาวิชาชีพต่างๆ การให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ การสนับสนุนการประกอบอาชีพอิสระของคนพิการ บริการจัดหางานคนพิการ การพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับคนพิการที่ผ่านการฝึกอาชีพแล้วและต้องการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ
การฝึกอาชีพให้คนพิการในวัยทำงาน
เป็นบริการด้านการฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะตามความถนัด และความสามารถที่เหมาะสมกับสภาพความพิการ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมแก่คนพิการก่อนออกไปประกอบอาชีพในสถานประกอบการหรืออาชีพอิสระ โดยดำเนินการให้การศึกษาวิชาชีพในโรงเรียนหรือสถาบันฝึกอาชีพร่วมกับคนทั่วไป และสถานฝึกอาชีพเฉพาะสำหรับคนพิการทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นบริการที่จัดให้คนพิการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆในการฝึกอาชีพ โดยมีรูปแบบการให้บริการดังนี้
1. โรงเรียนในสังกัดกรมอาชีวศึกษา เป็นสถาบันการฝึกอาชีพร่วมกับคนปกติทั่วไป เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง โดยให้บริการฝึกอาชีพช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างกลึงโลหะ ช่างซ่อมวิทยุโทรทัศน์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างเสริมสวย เป็นต้น
2. ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ หน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นสถาบันการฝึกอาชีพเฉพาะสำหรับคนพิการ โดยให้บริการฝึกอาชีพควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทั้งทางการแพทย์ การศึกษาสายสามัญ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม และบริการด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การสงเคราะห์ด้านปัจจัยสี่ นันทนาการ จริยธรรมและศาสนา การจัดหางาน เป็นต้น
3.
ศูนย์พัฒนาอาชีพคนพิการ จังหวัดนนทบุรี เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินงานในลักษณะโรงงานในอารักษ์ รับคนพิการที่สำเร็จการฝึกอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าเข้าเตรียมความพร้อม ฝึกทักษะและความชำนาญก่อนเข้าทานในสถานประกอบการ โดยคนพิการจะได้รับบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การศึกษา อาชีพและสังคม พร้อมทั้งได้รับรายได้จากการทำงานเป็นรายเดือน
4. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้บริการฝึกอาชีพร่วมกับคนปกติทั่วไป เพื่อเป็นการยกระดับความรู้ ความสามารถในงานอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆในการรับบริการ โดยมีวิชาชีพที่จัดฝึกอบรม ได้แก่ ช่างอิเล็คทรอนิคส์ ช่างคอมพิวเตอร์ ช่างเดินสายไฟในรถยนต์ ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม ช่างสี ช่างกลึง ช่างไม้ก่อสร้าง ช่างประปาและสุขภัณฑ์ ช่างซ่อมเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ ช่างกลการเกษตร เป็นต้น
คุณสมบัติของคนพิการที่สามารถรับบริการด้านการฝึกอาชีพ ประกอบด้วย
1. มีอายุระหว่าง 14-40 ปี
2. เป็นผู้พิการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
ที่สามารถช่วยเหลือตนเองเองได้ในกิจวัตรประจำวันและความพิการนั้นๆ
ไม่เป็นอุปสรรคต่อวิชาชีพที่ฝึกอบรม
3.
ผู้พิการหูหนวกและเป็นใบ้ ต้องสื่อความหมายได้ และ/หรือ สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ
จากโรงเรียนโสตศึกษาของรัฐหรือ เอกชน
4. ผู้พิการท่อนล่าง (อัมพาต) ต้องควบคุมระบบขับถ่ายได้
5. ผู้พิการท่อนล่างที่ต้องใช้เครื่องช่วยความพิการเสริมหรือเทียม
และเครื่องกายอุปกรณ์ช่วยเดินจะต้องสามารถเดินหรือ เคลื่อนไหวได้เช่นคนปกติ
6. จะต้องผ่านการทดสอบว่าเป็นผู้มีสติปัญญา
และสามารถที่จะฝึกอาชีพนั้นๆ ได้
7.
ไม่เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคติดต่ออันตราย หรือติดสุรายาเสพติดให้โทษ
8.
ผู้สมัครเรียนวิชาชีพเฉพาะในบางสาขา ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามที่กำหนดและอยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการในการคัดเลือกตามพื้นฐานการศึกษา
9. มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่บกพร่องในศีลธรรม
10. ไม่เป็นผู้พิการทางสมอง
บริการด้านการจัดหางานให้คนพิการ
เพื่อส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ
ให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
และเพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสามารถของคนพิการ
ดังนั้นจึงจัดให้มีการจัดหางานให้แก่คนพิการขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการที่ประสงค์จะทำงานในสถานประกอบการให้สามารถได้งานทำที่ตรงกับความรู้ความสามารถของตนเอง และเพื่อให้สถานประกอบการที่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานได้คนพิการที่มีความรู้ความสามารถตรงกับตำแหน่งงานที่ว่างอยู่
การจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ
เพื่อส่งเสริมให้คนพิการมีโอกาสได้งานทำมากขึ้น ตามกฎกระทรวง เรื่องการจ้างงานคนพิการ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 กำหนดให้เจ้าของสถานประกอบการเอกชนทั่วประเทศที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไปต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนลูกจ้างทุก 200 คน ต่อคนพิการ 1 คน และเศษของลูกจ้างปกติที่เกิน 100 คน ให้รับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน หากสถานประกอบการใดไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานในปีนั้น ให้ส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ โดยใช้อัตราส่วนดังนี้ ครึ่งหนึ่งของอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่บังคับใช้ในท้องถิ่นนั้น ๆ คูณ 365 (365 วันใน 1 ปี) คูณด้วยจำนวนคนพิการซึ่งประสงค์ไม่รับเข้าทำงาน คนพิการที่เข้าสู่ระบบการจ้างงาน เป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพพร้อมมาแล้ว ทั้งทางสภาพร่างกาย จิตใจ และทักษะในการทำงาน จึงสามารถช่วยเหลือตนเองได้และไม่เป็นภาระต่อสถานประกอบการ
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย พรจันทร์
เกียรติศิริโรจน์ ใน การฟื้นฟูอาชีพคนพิการ